ตารางปฏิบัติธรรม
การเตรียมตัวก่อนมาปฏิบัติธรรม
เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม เคลียร์งาน วางภาระ เครื่องกังวลทั้งปวง เตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวให้พร้อม
ถ้าไม่มีชุดปฏิบัติธรรม ทางวัดมีให้ยืมแล้วชำระหนี้สงฆ์เป็นค่าซักผ้า ไม่มีการใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น (แต่ให้ทำบุญเองตามศรัทธา)
เวลาในการมาปฏิบัติธรรม มาถึงวัดได้ตั้งแต่ช่วงเช้า แต่ไม่ควรเกิน ๔ โมงเย็น เพื่อมาลงทะเบียนปฏิบัติธรรม และเก็บของที่ห้องพัก อาบน้ำชำระร่างกาย เปลี่ยนชุดให้เรียบร้อย
เพื่อเตรียมสมาทานศีล ๘ ในช่วง ๕ โมงเย็น ท่านที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อนหรือเคยแล้วแต่ยังจำไม่ได้ จะมีพระคุณเจ้าสอนปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องสืบไป
สอบถามเพิ่มเติม สำนักงานวัดตาลเอน ๐๓๕-๗๗๘-๕๕๒ ห้องทะเบียน ๐๘๖-๐๘๒-๗๖๖๘
ระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมแบ่งออกเป็น ๔ ช่วงในแต่ละวัน ดังนี้
ช่วงแรก | ๐๔.๐๐ – ๐๗.๐๐ น. |
ช่วงที่สอง | ๐๘.๓๐ – ๑๑.๐๐ น. |
ช่วงที่สาม | ๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. |
ช่วงที่สี่ | ๑๘.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. |
ขั้นตอนการปฏิบัติ
ให้ผู้ปฏิบัติมาพร้อมกันตามเวลาในการปฏิบัติช่วงแรก ณ สถานที่ปฏิบัติแล้ว หัวหน้าจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย นำสวดมนต์ กราบพระประธานแล้ว จึงเริ่มปฏิบัติธรรม โดยการเดินจงกรมก่อน ๓๐ นาที แล้วเปลี่ยนอิริยาบถ เข้ามานั่งกรรมฐาน ๓๐ นาที สลับกันไปจนครบเวลาปฏิบัติที่กำหนด ส่วนเวลาในการปฏิบัติ ๓๐ นาทีที่กำหนดให้นี้ ผู้ปฏิบัติอาจปรับให้มากหรือน้อยกว่า ๓๐ นาทีตามความเหมาะสมของสภาวะอารมณ์
ก่อนถึงเวลาพักทุกช่วง
ผู้ปฏิบัติธรรมควรอยู่ในอิริยาบถของการนั่งพับเพียบประนมมือ ทั้งนี้เพราะเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติในแต่ละช่วง จะได้แผ่เมตตาต่อไปได้ โดยไม่เสียสมาธิจิต
เมื่อแผ่เมตตา (สัพเพ สัตตา….) เสร็จแล้ว
ให้อุทิศส่วนกุศลผลบุญในการปฏิบัติธรรมแก่มารดา บิดา ญาติพี่น้อง เทวดา เปรต และสรรพสัตว์ทั้งหลาย (อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ….) จากนั้นลุกขึ้นนั่งคุกเข่าสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย (อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา…) กราบพระประธาน
ขั้นตอนในการปฏิบัติจะเป็นเช่นเดียวกันในทุกช่วง เว้นแต่การจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยในช่วงที่ ๒-๓-๔ ไม่มีเพราะได้บูชาแล้วในช่วงแรกการให้ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติที่มาใหม่ อาจารย์หรือหัวหน้าผู้ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้ให้คำแนะนำการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเบื้องต้น ส่วนการทดสอบอารมณ์ตลอดจนความรู้ที่ละเอียดขึ้นพระอาจารย์และพระคุณเจ้าจะเป็นผู้ให้ความรู้หลังจากปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่เข้าใจ หากมีข้อสงสัยใดๆ อาจใช้ช่วงเวลานี้สอบถามขอความรู้ได้
ห้ามคุย บอก หรือถามสภาวะกับผู้ปฏิบัติเพราะจะเป็นภัย แก่ผู้ที่กำลังปฏิบัติทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โดยจะทำให้อารมณ์ฟุ้งซ่าน และเพ้อเจ้อ หากมีความสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติอย่างไรแล้ว ให้เก็บไว้สอบถามครูผู้สอน ห้ามสอบถามผู้ปฏิบัติด้วยกันเป็นอันขาดถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ ก็ให้พูดเบา ๆ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ไม่ควรพูดนาน เพราะจะทำให้ฟุ้งซ่านทั้งผู้พูดและผู้ฟัง และทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า ถ้ามีเรื่องจะพูดกันนาน ต้องออกจากห้องกรรมฐานไปพูดในสถานที่อื่น ห้ามใช้ห้องปฏิบัติรับแขกขณะที่ยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติ ห้ามอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เรียนหนังสือ ฟังวิทยุ ดูทีวี ตลอดจนสูบบุหรี่ เคี้ยว หมาก และควรปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ผู้ปฏิบัติฯ จะต้องไม่เสพเครื่องดองของมึนเมา หรือนำยาเสพติดทุกชนิด เข้ามาในบริเวณสำนักเป็นอันขาด
นักปฏิบัติต้องระลึกเสมอว่า เรามาปฏิบัติเพื่อยกระดับจิตใจ ขัดเกลากิเลสตัณหาให้เบาบางลง มิใช่มาเพื่อหาความสุข ในการอยู่ดี กินดี จึงต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษต่อความไม่สะดวก และสิ่งที่กระทบกระทั่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องทดสอบความอดทนและคุณธรรมของนักปฏิบัติว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใดนักปฏิบัติต้องเข้าอบรม รับศีล ประชุมพร้อมกันในอุโบสถหรือศาลาที่จัดไว้ตามความเหมาะสมกับจำนวนนักปฏิบัติในวันพระ หากผู้ปฏิบัติเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นให้รีบแจ้งแก่เจ้าหน้าที่โดยเร็ว เพื่อหาทางช่วยเหลือตามสมควรแก่กรณี ไม่ควรละการปฏิบัติ ในเมื่อไม่มีความจำเป็น ห้องหรือกุฏิที่จัดไว้เป็นห้องปฏิบัติเฉพาะนักปฏิบัติที่เป็นบุรุษก็ดี สตรีก็ดี ห้ามมิให้เพศตรงข้ามเข้าไปนอน หรือใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมนั้นเด็ดขาด ผู้ปฏิบัติธรรมควรสังเกตสัญญาณการนั่งการกราบจากอาจารย์ผู้นำ ทั้งนี้เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นระเบียบและเจริญตาแก่ผู้พบเห็น การออกนอกบริเวณสำนักโดยการพิธีทุกครั้ง อาจารย์ผู้ปกครองจะเป็นผู้นำไปทั้งไปและกลับ ให้เดินเป็นแถวตอนเรียงหนึ่ง ตามลำดับอาวุโส ด้วยอาการสงบสำรวม นักปฏิบัติฯจะต้องอยู่ในบริเวณที่กำหนดให้เท่านั้น ถ้าไม่มีธุระจำเป็น ไม่ควรออกนอกสถานที่ปฏิบัติ และถ้ามีธุระจำเป็นจะต้องออกนอกสำนัก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเสียก่อน ขอความร่วมมือได้โปรดช่วยกันรักษาความสะอาดในห้อง หน้าห้อง ห้องน้ำ ห้องส้วม และขอให้ใช้น้ำ-ไฟอย่างประหยัด ไม่ควรเปิดน้ำ ไฟฟ้าและพัดลมทิ้งไว้เมื่อไม่อยูในที่พักหรือศาลาปฏิบัติธรรม เวลาว่างตอนเช้า ตอนกลางวัน หรือตอนเย็น ผู้ปฏิบัติธรรมอาจใช้เวลาว่าง ทำความสะอาดกวาดลานภายในเขตสำนักและบริเวณที่พัก เพื่อความสะอาดของสถานที่และเจริญสุขภาพของผู้ปฏิบัติ
การรับประทานอาหารมี ๒ เวลา และดื่มน้ำปานะ ๒ เวลา ดังนี้
๐๗.๐๐ น | รับประทานอาหารเช้า |
๑๑.๐๐ น | รับประทานอาหารกลางวัน |
๑๗.๓๐ น | ดื่มน้ำปานะ |
๒๑.๐๐ น | ดื่มน้ำปานะ |
- การรับประทานอาหารและดื่มน้ำปานะทุกครั้ง ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมารับประทานพร้อมกันตามเวลาที่กำหนด
- เมื่อตักอาหารใส่ภาชนะแล้ว ให้เข้านั่งประจำที่ให้เป็นระเบียบ
- การนั่ง ต้องนั่งชิดด้านในก่อนเสมอ เมื่อเต็มแล้วจึงเริ่มแถวใหม่ต่อไป รอจนพร้อมเพรียงกัน แล้วหัวหน้าจะกล่าวนำ ขออนุญาตรับประทานอาหาร
- ขณะนั่งรอและรับประทานอาหาร ผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ควรคุยกันหรือแสดงอาการใดๆ ที่ไม่สำรวม
- เมื่อเสร็จจากการรับประทานอาหาร ให้ผู้ปฏิบัติธรรมช่วยกันเก็บกวาดสถานที่ ทำความสะอาดภาชนะ ให้เรียบร้อย
- นักปฏิบัติจะต้องไม่นำของที่มีค่าติดตัวมาด้วย หากสูญหาย ทางสำนักจะไม่รับผิดชอบไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น
- นักปฏิบัติจะต้องไม่คะนองกาย วาจา หรือส่งเสียงก่อความรำคาญ หรือพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยไม่มีความจำเป็น
- ถ้ามีผู้มาเยี่ยมจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน การเยี่ยมนั้นให้แขกคุยได้ไม่เกิน ๑๕ นาที ถ้าเป็นแขกต่างเพศ ให้ออกไปคุยข้างนอกสถานที่ปฏิบัติธรรม
- ถ้านักปฏิบัติผู้ใด ไม่ทำตามระเบียบของสำนักที่กำหนดไว้ ทางสำนักจำเป็นจะต้องพิจารณาเตือนให้ทราบก่อน หากยังไม่ยอมรับฟัง ทางสำนักมีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอให้
- ออกจากสำนัก ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น ที่จะเข้ามาปฏิบัติต่อไป
การลา
เมื่อผู้ปฏิบัติธรรม ได้ปฏิบัติครบตามกำหนดที่ได้แจ้งความจำนงไว้แล้วนั้น เจ้าหน้าที่จะได้จัดเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อทำพิธีลาศีล และขอขมาพระรัตนตรัย ให้ผู้ปฏิบัติธรรมที่จะลาศีลไปพร้อมกัน ณ ที่นัดหมาย (ฟังประกาศจากเจ้าหน้าที่) โดยอาจารย์ผู้ปกครองเป็นผู้นำไป
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องลากลับก่อนกำหนดนั้น ผู้ปฏิบัติต้องแจ้งให้อาจารย์ผู้ปกครองทราบสาเหตุ และหากไม่มีความจำเป็น ไม่ควรหนีกลับไปโดยพลการเพราะจะเป็นผลเสียต่อผู้ปฏิบัติ
ข้อแนะนำนี้
เป็นคู่มือให้รายละเอียดในแนวทางปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบของสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมจะได้เข้าใจ สบายใจในการอยู่อาศัยและปฏิบัติธรรมกรรมฐานร่วมกันอย่างสงบ ในสังคมของผู้ปฏิบัติธรรมย่อมประหยัดการพูด โอกาสที่ท่านจะถามระเบียบหรือโอกาสที่จะมีผู้อธิบายแนะนำแก่ท่านมีน้อยคู่มือนี้จะช่วยท่านได้เป็นอย่างดี
เคล็ดลับไปสู่ความสำเร็จ
– ศรัทธาต่อครูบาอาจารย์และแนวทางที่ปฏิบัติ
– มีความเพียรยิ่ง ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
– รักษาวินัยในการปฏิบัติให้เคร่งครัด
– มีจิตใจที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ไม่กลัวตาย
หมายเหตุ
๑.ผู้ที่ประสงค์จะสมัครบวชพระ ให้ส่งใบสมัครบวชที่วัดตาลเอนก่อนวันบวช ๑๕ วัน
๒.สามารถสอบถามรายละเอียดและแจ้งชื่อในการสมัครอุปสมบทได้ที่
วัดตาลเอน โทร ๐๓๕ – ๗๗๘ – ๕๕๒ สำนักงานวัดตาลเอน โทร ๐๘๙ – ๒๐๗ – ๓๘๔๐
” วัดตาลเอน เจ้าเณรสร้าง มีทองสองอ่าง อยู่หว่างคนโทษ กาอยู่นอก กระรอกอยู่ใน ใครคิดได้ ให้ไปเอาที่อีกา “